การพัฒนาความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย

การพัฒนาความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย

Developing Reading Comprehension Ability by Using

the Semantic Mapping Technique

 

จุไรรัตน์ ปรากฏมาก

Jurairat Prakotmak

ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โรงเรียนครบุรี

E-mail : jurairat2510@gmail.com โทรศัพท์ : 087-8784213

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้การอ่านเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80          2) เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย 3) ศึกษาดัชนีประสิทธิผลของการพัฒนาความสามารถในอ่านเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย และ 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/4 โรงเรียนครบุรี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 28 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้การอ่านเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย จำนวน 8 แผน แบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจ แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย  การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย () ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าทีแบบไม่อิสระ (t-test dependent) และค่าดัชนีประสิทธิผล

ผลการวิจัยพบว่าแผนการจัดการเรียนรู้การอ่านเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 83.15/81.31 โดยค่าเฉลี่ยของความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจของนักเรียน ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 ค่าดัชนีประสิทธิผลของการพัฒนาความสามารถในอ่านเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายมีค่าเท่ากับร้อยละ 61.13 และความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย อยู่ในระดับมาก โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.47

 

 

คำสำคัญ: การอ่านเพื่อความเข้าใจ / การสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย

 

 

 

Abstract

 

The purposes of this research were: 1) to study the efficiency of lesson plans for English reading comprehension using the semantic mapping technique at the criterion 80/80, 2) to compare the students’ reading ability before and after learning through using the semantic mapping technique, 3) to find the effectiveness index of developing reading comprehension ability by using the semantic mapping technique and 4) to study the students’ satisfaction toward learning by using the semantic mapping technique. The subjects were 28 Mattayomsuksa 6/4 students of Khonburi School in semester 2 academic year 2014. The instruments used in this research consisted of 8 lesson plans for English reading comprehension using the semantic mapping technique, an English reading comprehension test, and a student satisfaction questionnaire. The statistics used for the data analysis were percentage, mean, standard deviation, t-test and effectiveness index.

The results of this study revealed that: 1) The efficiency of lesson plans for English reading comprehension using the semantic mapping technique was 83.15/81.31 that was higher than the criterion 80/80, 2) the students’ reading ability after learning through using the semantic mapping technique was statistically significant higher than before using at .05, 3) The effectiveness index of developing reading comprehension ability by using the semantic mapping technique was 61.13 %, and 4) the students’ satisfaction toward learning by using the semantic mapping technique was at the good level, at the average 4.47.

 

Key words: reading comprehension, semantic mapping

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

ในปัจจุบัน ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อ พบปะ เพื่อดำเนินกิจกรรมทางสังคมหรือเศรษฐกิจ ในการสื่อสารความรู้สึกนึกคิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน            ในการศึกษาหาข้อมูลความรู้ และถ่ายทอดวิทยาการต่าง ๆ แก่กัน การรู้ภาษาอังกฤษจึงช่วยสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างชนชาติได้ดียิ่งขึ้น เพราะมีความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละเชื้อชาติ และทำให้สามารถปฏิบัติตนต่อกันได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2551: 1) ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงมีความสำคัญในวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง เป็นผลให้คนในสมัยปัจจุบันต้องเพิ่มพูนความรู้ภาษาอังกฤษ ทำให้มีการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้ทักษะทั้ง 4 ด้าน ซึ่งได้แก่ ทักษะด้านการฟัง พูด อ่านและการเขียน ซึ่งทักษะทั้ง 4 ด้านนี้ ทักษะการอ่านถือเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน เนื่องจากในปัจจุบันเราจะได้เห็นและได้อ่านภาษาอังกฤษมากขึ้น เช่นการอ่านหนังสือพิมพ์ ป้ายโฆษณา ฉลาก ป้ายจราจร ตำรา วารสาร คำแนะนำในการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) การติดต่อสื่อสารโดยผ่านการใช้ภาษาอังกฤษยิ่งเพิ่มความสำคัญและจำเป็น (มยุรี เผ่นแก้ว, 2555: 1) ซึ่งการเตรียมความพร้อมผู้เรียนในการเรียนภาษาอังกฤษนั้น ผู้เรียนจะต้องได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถด้านการอ่านเป็นพิเศษ เพราะทักษะการอ่านเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทักษะอื่น ๆ

ถึงแม้ว่าการอ่านจะมีความสำคัญและเป็นทักษะที่ควรได้รับการส่งเสริมดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  แต่ปรากฏว่าสภาพในปัจจุบัน ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยก็ยังอยู่ในระดับไม่เป็น       ที่น่าพึงพอใจ แม้ว่าจะมีการปรับปรุงหลักสูตรภาษาอังกฤษให้ทันสมัย สอดคล้องกับสังคมปัจจุบันและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าแล้วก็ตาม โดยจากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยหลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับการอ่านภาษาอังกฤษ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ยังมีปัญหาในทักษะการอ่านเป็นอย่างมาก โดยปัญหาด้านการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยส่วนใหญ่จะเป็นด้านความเข้าใจในการอ่าน เนื่องจากขาดทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในเรื่องความสามารถในการอ่าน นักเรียนจึงไม่เข้าใจในเนื้อหาของบทอ่าน ไม่สามารถเข้าใจในข้อมูลที่ได้รับได้ดีเท่าที่ควร ไม่สามารถจับประเด็นสำคัญของเรื่องที่อ่านได้ ไม่สามารถรวบรวมรายละเอียดของสิ่งที่อ่านได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนใช้เวลาในการอ่านเพื่อทำความเข้าใจนานเกินไป รวมไปจนกระทั่งถึง มีเจตคติ   ที่ไม่ดีต่อการอ่านภาษาอังกฤษ (สุภรัตน์ สท้านพล, 2554: 2; แสงทอง คำเสือ, 2554: 3; กฤติกา จันทรเกษม, 2553: 3; กาญจนา สุวรรณเจริญ, 2552: ออนไลน์; ชวาลา สมถวิล, 2551: 3) เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ส่งผล ให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

การที่ทักษะการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยอยู่ในระดับต่ำ สาเหตุหนึ่ง เนื่องมาจากผู้สอนใช้วิธีการสอนที่ไม่เหมาะสม ทำให้การอ่านของนักเรียนล้มเหลว และการสอน ไม่ได้ให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการอ่านอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้สอนจะเน้นไปในด้านการแปล เน้นความจำคำศัพท์ กฎไวยากรณ์ ซึ่งไม่ส่งเสริมทักษะการคิด ทำให้นักเรียนไม่เข้าใจในการอ่าน ไม่สามารถสรุปองค์ความรู้จากการอ่านให้ออกมาเป็นคำพูดหรือตัวอักษรได้ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทักษะการอ่านต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้เดิม ประสบการณ์ในการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งมีอิทธิพลที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความพอใจในการเรียน โดยผู้สอนต้องจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถ ความถนัด   ในการเรียน และต้องให้นักเรียนใช้ภาษาอังกฤษให้มากที่สุด ไม่ควรใช้ภาษาไทย ควรสอนให้นักเรียนมีความสามารถใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจกับสิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ปรากฏจริงในชีวิตประจำวัน มีแบบฝึกหัดให้นักเรียนใช้ภาษาโดยอัตโนมัติ และจัดกิจกรรมทางภาษาที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกใช้ภาษาเพื่อติดต่อสื่อสารในสถานการณ์จริง และกิจกรรมต้องมีสภาพการณ์ใกล้กับความเป็นจริงมากที่สุด (Sunee Sunmud, 2553: online) ดังนั้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางด้านการอ่านเพื่อความเข้าใจของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะการอ่านในลักษณะที่ดีขึ้น จึงจำเป็นที่ผู้เรียนจะต้องได้รับการพัฒนายุทธวิธี ในการอ่าน (reading strategy) ที่เหมาะสม

ยุทธวิธีการอ่านที่เรียกว่า Semantic Mapping ซึ่งแปลความหมายเป็นภาษาไทยได้หลายคำ ได้แก่ การสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย ผังความสัมพันธ์ของความหมาย แผนภูมิความหมาย แผนภาพลำดับความคิด ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ใช้ก่อนอ่าน ระหว่างอ่าน และหลังการอ่านของ Heimlich & Pittelman (1986: 3) เป็นยุทธวิธีหนึ่งที่พบว่าเหมาะสม สำหรับการพัฒนาวิธีการสอนทักษะการอ่านของผู้ที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นยุทธวิธีที่จะช่วยในการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดของผู้เรียนอีกด้วย โดยที่ การสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย จะมีลักษณะเปนเทคนิคการนําเสนอความรู ความคิดรวบยอดในรูปแผนภูมิ รวมทั้งยังเปนการสอนการอานจับใจความของเรื่อง    โดยการใหผูอานเขียนผังความสัมพันธ เพื่อแสดงใหเห็นถึงใจความสําคัญและความสัมพันธระหวางประเด็น     ตาง ๆ เพื่อใหผูอานมองเห็นขั้นตอนและเหตุการณ์อย่างเปนลําดับ ผู้เรียนจะต้องวิเคราะห์ ประเมินข้อมูล       ที่จะเติม ให้เหตุผล โดยเรียงลำดับ จำแนกความคิด ตามการเรียบเรียงของผู้เขียน (Miccinati, 1988: 22)    ทําใหผูอานเขาใจและสรุปที่เรื่องที่อานได้ดีขึ้น นอกจากนั้น ผังความสัมพันธ์ทางความหมาย ยังสามารถทำให้อ่านเชื่อมโยงข้อมูลใหม่กับข้อมูลเดิม (prior knowledge) แล้วสร้างเป็นแผนภาพ เพื่อจัดระบบข้อมูล เปรียบเหมือนสะพานเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลใหม่กับความรู้เดิม (Pearson & Johnson, 1978 cited in Heimlich and Pittelman, 1986: 1) ซึ่งทำให้ผู้อ่านสามารถดึงความรู้เดิมที่มีต่อบทอ่าน และนำข้อมูลที่ได้นั้นมาช่วยทำให้เกิดความเข้าใจในบทอ่านได้ดียิ่งขึ้น

จากความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา รวมถึงการศึกษาแนวคิดและผลการวิจัยทางการศึกษาต่าง ๆ ถึงประโยชน์ของยุทธวิธีการสอนอ่านโดยใช้ผังความสัมพันธ์ทางความหมาย ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะพัฒนาความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย โดยมีความมุ่งหวังว่า การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาทักษะกระบวนการคิดแก่ผู้เรียน ช่วยทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเป็นระบบ มีความเข้าใจในการอ่านได้มากขึ้น เกิดความรักและพัฒนาความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเจตคติที่ดีต่อการอ่านภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดการพัฒนาตนเองทั้งด้านการศึกษาเล่าเรียน การประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  1. เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้การอ่านเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
  2. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย
  3. เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของการพัฒนาความสามารถในอ่านเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย
  4. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย

 

ขอบเขตของการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้ กำหนดขอบเขตไว้ดังนี้

  1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

1.1 ประชากรในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1-6/4 โรงเรียนครบุรี อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2/2557 จำนวน 113 คน

1.2 กลุ่มตัวอย่างที่ทำการวิจัย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/4 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2/2557 โรงเรียนครบุรี อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 28 คน ได้มาด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม

  1. ตัวแปรที่ศึกษา

2.1 ตัวแปรต้น ได้แก่ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย

 

2.2 ตัวแปรตาม ได้แก่

2.2.1 ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

2.2.2 ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย

 

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

  1. แผนการจัดการเรียนรู้การอ่านเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย จำนวน 8 แผน
  2. แบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจ
  3. แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย เพื่อพัฒนาความสามารถในอ่านเพื่อความเข้าใจ

 

การดำเนินการทดลองและการเก็บรวบรวมข้อมูล

  1. รูปแบบการวิจัย

ผู้วิจัยได้ดำเนินการทดลองแบบ One Group Pretest – Posttest Design

  1. การเก็บรวบรวมข้อมูล
  2. ทำการทดสอบก่อนการทดลอง (Pretest) กับนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง ด้วยแบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจ จำนวน 30 ข้อ
  3. ดำเนินการทดลองสอนกับกลุ่มตัวอย่างตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/4 จำนวน 28 คน ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที 2 ปีการศึกษา 2557 ในเวลาเรียนปกติ    ใช้เวลาในการทดลองทั้งสิ้น 4 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 4 คาบ ๆ ละ 55 นาที
  4. เมื่อสิ้นสุดการสอนแล้วผู้วิจัยทำการทดสอบหลังการทดลอง (Posttest) กับนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง
  5. ให้นักเรียนกลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามวัดความพึงพอใจ
  6. รวบรวมข้อมูลที่ได้จากการตรวจแบบทดสอบและแบบสอบถามความพึงพอใจ โดยนำคะแนนที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ

 

การวิเคราะห์ข้อมูล

         ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลดังนี้

  1. การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือสำหรับการวิจัยครั้งนี้

1.1 ตรวจสอบคุณภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ ดำเนินการโดยให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินความเหมาะสมสอดคล้องกับผลการเรียนรู้ จุดประสงค์การเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้ สื่อและแหล่งการเรียนรู้ และการวัดประเมินผลการเรียนรู้ โดยใช้หลักการประเมินของ Likert เป็นมาตราส่วน (rating scale) 5 ระดับ คือ เหมาะสม/สอดคล้องมากที่สุด เหมาะสม/สอดคล้องมาก เหมาะสม/สอดคล้องปานกลาง เหมาะสม/สอดคล้องน้อย และเหมาะสม/สอดคล้อง น้อยที่สุด จากนั้นนำผลการประเมินมาหาค่าเฉลี่ย เพื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้ และนำแผนการจัดการเรียนรู้ไปทดลองใช้เพื่อหาประสิทธิภาพ กำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพเท่ากับ 80/80

1.2 ตรวจสอบคุณภาพของแบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจ ดำเนินการดังนี้

1) หาค่าความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) ของแบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจ โดยใช้สูตรค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อสอบกับจุดประสงค์การเรียนรู้ (Index of Item Objective Congruence: IOC)

2) หาค่าระดับความยากง่าย (P) ของแบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจ

3) หาค่าอำนาจจำแนก (B) ของแบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจ

4) หาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับโดยใช้วิธีของ Lovett (rcc)

1.3 ตรวจสอบคุณภาพของแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย เพื่อพัฒนาความสามารถในอ่านเพื่อความเข้าใจ ดำเนินการดังนี้

1) หาค่าเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาและภาษา (Content Validity) โดยการหาค่าดัชนีความสอดคล้อง (Index of Item Objective Congruence: IOC) ของแบบสอบถามความพึงพอใจ

2) หาค่าความเชื่อมั่น (Reliability) ของแบบสอบถามความพึงพอใจ โดยวิธีของ Cronbach โดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟ่า (α- Coefficient)

  1. การทดสอบสมมติฐาน

2.1 การหาประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้การอ่านเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายตามเกณฑ์ 80/80 โดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

2.2 การวิเคราะห์ค่าดัชนีประสิทธิผลของการพัฒนาความสามารถในอ่านเพื่อความเข้าใจโดยใช้วิธีการของ Goodman,Fletcher & Schneider

2.3 การวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย จากแบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจ

1) สถิติที่ใช้คือค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

2) การเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจ ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย วิเคราะห์ความแตกต่างโดยการทดสอบค่าที (t-test) แบบ dependent

2.4 การวิเคราะห์ความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย ใช้ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

 

ผลการวิจัย

  1. แผนการจัดการเรียนรู้การอ่านเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 83.15/81.31 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
  2. 2. ค่าเฉลี่ยของความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจของนักเรียน ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าเฉลี่ยของคะแนนก่อนเรียนเท่ากับ 57 และหลังเรียนเท่ากับ 24.39
  3. ค่าดัชนีประสิทธิผลของการพัฒนาความสามารถในอ่านเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย มีค่าเท่ากับร้อยละ 61.13
  4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.47 และมีส่วนเบี่ยงมาตรฐานเท่ากับ 0.50 สรุปได้ว่า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก

 

อภิปรายผลการวิจัย

จากการวิจัย สามารถอภิปรายผลได้ดังต่อไปนี้

  1. แผนการจัดการเรียนรู้การอ่านเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 83.15/81.31 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้ เป็นไปตามสมมุติฐานข้อที่ 1 แสดงว่าแผนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีประสิทธิภาพเหมาะสม สามารถนำไปใช้จัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจาก แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้ผ่านกระบวนการสร้างอย่างถูกต้อง และดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเป็นระบบ กล่าวคือ ก่อนขั้นตอนการสร้าง ได้มีการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ศึกษาและวิเคราะหหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ศึกษารูปแบบและวิธีการจัดการเรียนรู้ แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีองค์ประกอบครบถ้วน และมีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน ระหว่างจุดประสงค์ เนื้อหา กระบวนการเรียนการสอน สื่อและแหล่งการเรียนรู้ และวิธีการวัดผลประเมินผล จากนั้น จึงนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบคุณภาพ โดยการตรวจสอบความถูกต้องและความเหมาะสมขององค์ประกอบของแผน นอกจากนั้น แผนการจัดการเรียนรู้ที่สร้างขึ้น ยังเป็นเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ กิจกรรมการเรียนการสอนเน้นให้นักเรียนสามารถปฏิบัติได้จริง ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติกิจกรรม ค้นหาคำตอบ และแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีการบูรณาการความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ โดยอาศัยความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ผ่านผังความสัมพันธ์ทางความหมาย ทำให้ผู้เรียนเรียนได้ด้วยความสนุก ไม่เบื่อ จึงมีผลทำให้มีค่าประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
  2. ผลจากการพัฒนาความสามารถในอ่านเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย พบว่า ค่าเฉลี่ยของความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจของนักเรียน ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งสอดคล้องกับสมมุติฐานการวิจัย ที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องมาจาก การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย เป็นวิธีการสอนที่แตกต่างไปจากรูปแบบการสอนอ่านปกติ ซึ่งเทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย จะเป็นกระบวนการสอนอ่านที่มีขั้นตอนเป็นระบบ คือขั้นก่อนอ่าน ขั้นระหว่างอ่าน และขั้นหลังอ่าน ผังความสัมพันธ์ทางความหมายจะช่วยเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ ใช้เป็นการวัดความรู้เดิมเกี่ยวกับสิ่งที่จะอ่านของผู้เรียนได้ สามารถช่วยให้นักเรียนได้เห็นความสัมพันธ์ของใจความสำคัญของเนื้อเรื่องหรือบทอ่านที่อ่านได้อย่างชัดเจน มองเห็นขั้นตอนและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องเป็นลำดับไป ส่งผลให้เกิดความเข้าใจในเรื่อง จดจำเรื่องได้นาน สามารถอ่านได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีส่วนในการสร้างทัศนคติที่ดี และสร้างนิสัยรักการอ่าน และพัฒนาการเรียน อันเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างยิ่ง ซึ่งสามารถอภิปรายตามขั้นตอนได้ดังนี้

1.1 ขั้นก่อนอ่าน จะเป็นขั้นของการสนทนาโต้ตอบ ระหว่างครูกับผู้เรียน หรือระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง เพื่อทบทวนความรู้เดิมและเตรียมรับความรู้ใหม่ ผู้เรียนจะได้นำความรู้เดิมมาใช้ในการคาดเดาเกี่ยวกับเรื่องที่จะได้อ่าน โดยครูใช้รูปภาพ แผนภูมิ หัวเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะอ่าน มานำเสนอ เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน แล้วครูเป็นผู้นำสนทนาหรืออภิปราย หรือให้ผู้เรียนช่วยกันหาคำตอบเกี่ยวกับรูปภาพ แผนภูมิ หรือหัวเรื่องนั้น ๆ ผู้เรียนจะได้ทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับคำศัพท์ สำนวน และโครงสร้างไวยากรณ์ที่อยู่ในเรื่องที่อ่าน เพื่อทบทวนความรู้เดิมที่มีอยู่ และเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรับความรู้ใหม่ โดยครูใช้ผังความสัมพันธ์ทางความหมายมาเป็นเครื่องมือในการทบทวน และจากผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียน พบว่า การสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.53

1.2 ขั้นระหว่างอ่าน เป็นขั้นที่ผู้เรียนฝึกปฏิบัติกิจกรรมขณะอ่านเรื่องราว โดยการวิเคราะห์หาใจความสำคัญ ใจความรอง และรายละเอียดสนับสนุนของเรื่องที่อ่าน เขียนแผนผังโยงความสัมพันธ์ของเนื้อเรื่อง และเติมข้อความลงในผังความสัมพันธ์ทางความหมาย การเติมข้อความลงในผังความสัมพันธ์ทางความหมาย ช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นภาพรวมของข้อความที่ได้อ่านอย่างชัดเจน เพราะผังความสัมพันธ์ทางความหมายจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างแจ่มแจ้ง และเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ผังความสัมพันธ์ทางความหมาย จะแสดงความสัมพันธ์ของใจความหลัก ใจความรองของเรื่องที่ผู้เรียนได้อ่านอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ทำให้ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจเรื่องที่อ่านได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้เรียนมองเห็นความสัมพันธ์ของเนื้อเรื่องจากการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย ซึ่งจากผลการประเมินความ       พึงพอใจ พบว่า ค่าเฉลี่ยของความพึงพอใจในรายการประเมินข้อที่ 1 การสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในเนื้อหาบทเรียนมากขึ้นกว่าเดิม ข้อที่ 2 การสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายทำให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาง่ายขึ้น และข้อที่ 4 การเรียนโดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายช่วยให้นักเรียนมีความสับสนในเรื่องราว หรือบทอ่านที่ต้องอ่านน้อยลง        มีค่าเฉลี่ยของระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ทั้ง 3 ข้อ นั่นแสดงให้เห็นว่า การสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายทำให้ผู้เรียนสามารถจับใจความสำคัญและรายละเอียดย่อย ๆ จากเรื่องที่อ่านได้ ทำให้จดจำง่าย เข้าใจในการเรียนมากขึ้นและได้พัฒนาทักษะการอ่านได้ด้วยตนเอง

1.2 ขั้นหลังอ่าน เป็นขั้นที่ผู้เรียนนำเสนอผลงานการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย และอภิปรายร่วมกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียน เพื่อเป็นการตรวจสอบความเข้าใจ โดยผู้สอนถามคำถามให้ผู้เรียนคิดเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน ผู้เรียนตอบคำถามและนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงแก้ไขผลงาน และเขียนสรุปเรื่องอีกครั้งโดยใช้ถ้อยคำของตนเอง โดยเขียนเพียง 3-5 ประโยคเท่านั้น ขั้นตอนนี้จึงเป็นการเน้นย้ำและตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียนให้ได้ระลึกความจำเกี่ยวกับสิ่งที่ได้อ่าน ทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องราวได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง เมื่อมีความเข้าใจในเรื่องที่อ่าน จึงส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความพึงพอใจในความสามารถของตนเอง ทำให้บรรยากาศในการเรียนไม่ตึงเครียด ผู้เรียนเรียนได้ด้วยความสนุกสนาน ได้พัฒนาทักษะทางการอ่านเพื่อความเข้าใจ สามารถสรุปบทเรียน ได้เร็วขึ้นและมีคะแนนที่สูงขึ้นในการทำแบบทดสอบหลังเรียน

  1. ผลจากการนำเทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย มาใช้ในการจัดกิจกรรม        การเรียนรู้ในรายวิชาการอ่านเชิงวิเคราะห์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า ค่าดัชนีประสิทธิผลของการพัฒนาความสามารถในอ่านเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย มีค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ซึ่งสามารถอภิปรายได้ว่า ผังความสัมพันธ์ทางความหมาย ช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้และทักษะที่ผ่านการฝึกฝน มาใช้ในการคิดวิเคราะห์บทอ่าน จัดระบบความคิด สรุปความ เพื่อจำแนกใจความหลัก ใจความรอง และรายละเอียดที่สนับสนุนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถเชื่อมโยงเนื้อหาและแนวความคิดของผู้เขียนที่ปรากฏในบทอ่านแต่ละประเภท รับรู้ถึงโครงสร้างบทอ่านและสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของใจความในบทอ่านได้อย่างถูกต้อง จนมีผลให้พัฒนาการด้านการอ่านเพื่อความเข้าใจสูงขึ้นกว่าก่อนเรียนอย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับผลการประเมินความพึงพอใจที่ว่า ในการเรียนโดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายช่วยให้นักเรียนมีความสับสนในเรื่องราว หรือบทอ่านที่ต้องอ่านน้อยลง
  2. ผู้เรียนที่ได้รับการพัฒนาความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย มีความพึงพอใจเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก สามารถอภิปรายได้ว่า การสอนอ่าน โดยใช้การสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย เป็นวิธีการสอนอ่านที่น่าสนใจและช่วยพัฒนาทักษะการอ่านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาสมองทั้งซีกซ้ายในการคิดวิเคราะห์ข้อมูล และซีกขวาในการสร้างจินตนาการในการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย และยังทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนาน มีความสุขกับการเรียนและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับครูผู้สอนและกลุ่มเพื่อน ซึ่งสอดคล้องกับผลการประเมินความพึงพอใจ ซึ่งข้อที่มีระดับคะแนนการประเมินความพึงพอใจสูงที่สุดคือเท่ากับ 4.80 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน คือ การสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายทำให้บรรยากาศในการเรียนไม่ ตึงเครียด นักเรียนเรียนได้ด้วยความสนุกสนาน ไม่เบื่อ

 

ข้อเสนอแนะ

  1. ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัย

1.1 ก่อนการจัดกิจกรรมการสอนอ่านโดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายนั้น ครูผู้สอนจะต้องศึกษารูปแบบของผังความสัมพันธ์ทางความหมาย ลักษณะของข้อเขียนที่สอดคล้องกับผังความสัมพันธ์ทางความหมายแต่ละชนิด และวิธีการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วน ตลอดจนต้องมีการวางแผนและเตรียมการสอนล่วงหน้าอย่างละเอียดและเป็นลำดับขั้นตอนอย่างชัดเจน เพื่อให้เข้าใจหลักการ ลำดับขั้นตอนและสามารถแนะนำผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

1.2 การเลือกบทอ่านที่น่าสนใจและเหมาะสมกับระดับและความสามารถของผู้เรียน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับครูผู้สอนที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกบทอ่านที่จะนำมาใช้ในกิจกรรมการสอนอ่านโดยใช้ผังความสัมพันธ์ทางความหมาย นอกจากนั้น ควรเลือกบทอ่านที่มีความทันสมัย ทันเหตุการณ์ มีความชัดเจน ไม่ซับซ้อนจนเกินไป รวมทั้งเนื้อหาในบทอ่าน ควรเลือกให้เหมาะสมกับประสบการณ์หรือความรู้เดิม ตลอดจนอยู่ในความสนใจของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกท้าทายในการอ่านและการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย ให้สอดคล้องกับบทอ่านด้วย

1.3 บทบาทสำคัญของผู้สอนคือกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ข้อมูล และเกิดจินตนาการในการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ที่ผู้เรียนยังไม่มีประสบการณ์ในการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย การสอดส่องดูแลและคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้เรียน จะทำให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับรูปแบบการเรียน อีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบความเข้าใจในการอ่านที่แสดงให้เห็นจากการเติมข้อมูลลงในผังความสัมพันธ์ทางความหมายแต่ละรูปแบบของผู้เรียน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความมั่นใจและสามารถสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายได้ด้วยตนเองในการอ่านบทอ่านครั้งต่อ ๆ ไป

1.4 ผู้สอนควรให้คำติชมในผลงานการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายของผู้เรียนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจุดที่ควรปรับปรุงและเป็นการเสริมแรงให้แก่ผู้เรียนที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานและเขียนสรุปความได้เป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านการเรียนอย่างต่อเนื่อง

1.5 ครูผู้สอนควรส่งเสริมให้ผู้เรียนนำเทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายมาใช้ในการพัฒนาการอ่านภาษาอังกฤษ และใช้ในการเรียนวิชาอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองทั้งในการเรียนและในชีวิตประจำวัน

  1. ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป

2.1 ควรมีการวิจัยการสอนอ่านโดยใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมาย เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจของผู้เรียนในระดับชั้นอื่น ๆ ว่าได้ผลดีหรือไม่

2.2 ควรมีการทดลองใช้เทคนิคการสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายร่วมกับการจัดการเรียนรู้รูปแบบอื่น เช่น ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ หรือร่วมกับการใช้สัญญา   การเรียน เพื่อดูว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะแตกต่างกับการใช้การสร้างผังความสัมพันธ์ทางความหมายแต่เพียงวิธีเดียวหรือไม่ อย่างไร

 

เอกสารอ้างอิง

 

กฤติกา จันทรเกษม. (2553). การใช้ผังความสัมพันธ์ทางความหมายในการเรียนแบบกลุ่มสัมพันธ์

           เพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการอ่าน การเขียนสรุปความภาษาอังกฤษและการเห็น

            คุณค่าในตนเอง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต

บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

กาญจนา สุวรรณเจริญ. (2552). ชุดฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษจากเอกสารจริง. [ระบบออนไลน์].

แหล่งที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/246381 (29 มกราคม 2556)

จารุวรรณ ยั่งยืน. (2546). ผลของการใช้สัญญาการเรียนที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มวิชา

           สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ของนักเรียนที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ต่างกัน. วิทยานิพนธ์

ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (จิตวิทยาการศึกษา) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วิทยาเขตปัตตานี.

ชวาลา สมถวิล. (2551). การเปรียบเทียบความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษ และความพึงพอใจ

           ต่อวิธีสอนอ่านแบบ MIA และ SQ3R ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6. วิทยานิพนธ์

ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต (หลักสูตรและการสอน) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณ.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.   (2551). แนวทางการนำมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่การปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

สุภรัตน์ สท้านพล. (2554). การใช้แผนภูมิความหมายเพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่าน

           ภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5. วิทยานิพนธ์ปริญญา

ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การสอนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ) บัณฑิตวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

แสงทอง คำเสือ. (2554). การใช้ผังความสัมพันธ์ของความหมายเพื่อส่งเสริมความสามารถในการ

           อ่านภาษาอังกฤษ ความคงทนในการจาคาศัพท์ และความคิดเห็นเกี่ยวกับความสามารถ

            ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1. วิทยานิพนธ์ปริญญา

ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (การสอนภาษาอังกฤษ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

 

 

Abdullah Zaid. (1995). Semantic Mapping In Communicative Language Teaching.

[Online]. Available : www. http://exchanges.state.gov/forum/

vol33/no3/p6.htm [2014, January 20].

Heimlich, Joan E. and Pittleman, Susan D. (1986). Semantic Mapping : Classroom

            Application. International Reading Association.

Peterson, N. R. (1991). “Effectiveness of Semantic Mapping as an Instructional

Technique in English for Mainstreamed Learning Disabled Ninth Graders.”

Dissertation Abstracts International. 52 (November 1991): 1711A.

Sunee Sunmud. (2553). หลักสูตรแกนกลางกับการทดลองใช้. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา

https://www.gotoknow.org/posts/306730 (27 มกราคม 2557).

 

 

 

 

 

 

ร่วมแบ่งปันให้เพื่อนShare on FacebookTweet about this on TwitterShare on Google+Email this to someoneShare on LinkedInDigg this